การปฐมพยาบาล

การปฐมพยาบาล
สื่อการสอนสุขศึกษา

วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การปฐมพยาบาลผู้ที่หมดสติ

การปฐมพยาบาลผู้ที่หมดสติ



 การหมดสติ แบ่งได้ 2 พวก คือ การหมดสติพร้อมกับมีอาการหายใจลำบาก หรืออาจหยุดหายใจ และหมดสติ แต่ยังมีการหายใจ ซึ่งเป็นพวกที่มีอาการชัก ได้แก่ ลมบ้าหมู หรีอจากโลหิตเป็นพิษ หรือโรค เช่น ฮิสทีเรีย และพวกไม่มีอาการชัก ได้แก่ ช็อก เป็นลม เมาเหล้า เบาหวานและเส้นโลหิตในสมองแตก ลักษณะการหมดสติ มี 2 ลักษณะ คือ อาการซึม มึนงง เขย่าตัว อาจตื่น งัวเงียแล้วหลับ พูดได้บ้าง แต่ฟังไม่ได้ศัพท์ และลักษณะอาการหมดความรู้สึกทุกอย่าง แม้แต่เขย่าตัวก็ไม่ฟื้น ดังนั้นการปฐมพยาบาลผู้ที่หมดสติอย่างถูกต้อง รวดเร็ว จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง มิฉะนั้นอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
การปฐมพยาบาล
  1. ให้ตรวจดูว่าผู้ที่หมดสติยังหายใจอยู่หรือไม่ ถ้าไม่หายใจ ให้เปิดทางเดินหายใจ โดยกดหน้าผากลงและยกคางให้เงยหน้าขึ้น และถ้ายังไม่หายใจให้ช่วยหายใจ โดยผู้ช่วยเหลือเป่าลมหายใจออกเข้าไปในปอดของผู้ที่หมดสติ และช่วยฟื้นคืนชีพ โดยการนวดหัวใจ ถ้ามีหัวใจหยุดเต้น
  2. ตรวจร่างกายผู้ที่หมดสติอย่างรวดเร็ว และดูให้ทั่ว ว่ามีการบาดเจ็บหรือมีภาวะอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ถ้ามีบาดแผลและมีเลือดออก หรือมี กระดูกหัก ให้ทำการห้ามเลือด และช่วยประคองให้ส่วนที่บาดเจ็บอยู่กับที่ ต้องระมัดระวัง หากต้องการเคลื่อนไหว
  3. ถ้าผู้ที่หมดสติ เริ่มมีอาเจียน จัดให้นอน เอียงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ลิ้นตกไปด้านหลังลำคอ ซึ่งจะอุดกั้นทางเดินหายใจได้ และป้องกันไม่ให้อาเจียนไหลเข้าสู่หลอดลม
  4. หากมีอาการชัก ให้ม้วนผ้า หรือด้ามช้อนใส่เข้าไประหว่างฟัน เพื่อป้องกันไม่ให้กัดลิ้นตนเอง พร้อมทั้งหาสาเหตุที่ทำให้หมดสติ และประวัติการเกิดอุบัติเหตุจากผู้เห็นเหตุการณ์ด้วย เพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบ เมื่อนำส่งโรงพยาบาล

การเป็นลม           การเป็นลม เป็นการหมดสติไปชั่วครู่ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอชั่วคราว มักมีอาการซึม เวียนศีรษะนำมาก่อนและมีอาการตัวซีดเย็นเฉียบร่วมด้วย ความรู้สึกเช่นนี้อาจเกิดขึ้นโดยไม่หมดสติก็ได้ การตกใจรุนแรง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจทำให้ความดันโลหิตลดลง และรู้สึกจะเป็นลมได้ ถ้าเป็นลมหมดสติไปชั่วคราว เมื่อให้นอน ยกเท้าสูง และได้รับอากาศที่ถ่ายเทดี แล้วสามารถหายใจได้ดี และรู้สึกตัวภายใน 2-3 นาที โดยไม่มีอาการอื่นแทรกก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าต้องตกใจ
          แต่ถ้าเป็นลมบ่อย ๆ หรือมีอาการอื่นๆร่วมด้วย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรีบปรึกษาแพทย์ หรือถ้าหมดสติไปนาน หายใจไม่ดี ไม่สม่ำเสมอหรือหายใจช้าผิดปกติ ต้องนำส่งโรงพยาบาลทันที และระหว่างทางไปโรงพยาบาล ควรอยู่ในท่านอนกึ่งคว่ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ทางเดินหายใจอุดตัน

การปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกงูกัด

การปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกงูกัด



การถูกงูกัด เป็นภาวะฉุกเฉินเร่งด่วนอย่างหนึ่งที่ต้องรีบให้การปฐมพยาบาล เพื่อลดความรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนจากพิษงู ทั้งยังเป็นการชะลอเวลาการออกฤทธิ์ของพิษงูเพื่อนำส่งสถานพยาบาลได้อย่างทันท่วงที ในเมืองไทยเรางูมีพิษมีหลายชนิด พิษของงูแบ่งออกคร่าวๆ เป็น 3 แบบคือ
  1. พิษงูที่ทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น งูแมวเซา งูเขียวหางไหม้ งูกะปะ
  2. พิษงูที่ทำให้เกิดเป็นอัมพาตยับยั้งการทำงานของระบบประสาท เช่น งูเห่า งูจงอาง                                                                                                                                                         3.  พิษงูที่ทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง เช่น งูทะเล
อาการเมื่อถูกงูพิษกัด           นอกจากจะสามารถบอกได้ว่าถูกงูกัดได้โดยการเห็นตัวงูแล้ว ในกรณีที่ไม่เห็นตัวงู ตรงรอยที่ถูกงูกัดกัดจะมีรอยเขี้ยว 2 รอย และจะมีอาการใน 10 นาที อาการของผู้ถูกงูกัด แล้วแต่ชนิดของงู เช่น งูเห่าจะมีพิษทำอันตรายต่อระบบประสาท อาการทั่วไป จะเกิดขึ้นภายหลังประมาณครึ่งชั่วโมง โดยจะมีอาการอ่อนเพลีย เดินไม่ไหว หนังตาตก พูดอ้อแอ้ กลืนลำบากและหายใจไม่สะดวก ในที่สุดจะเป็นอัมพาตทั่วร่างกาย และอาจถึงแก่ความตายได้ เนื่องจากการหายใจหยุด
การปฐมพยาบาล           รอยแผลงูพิษกัดจะมีรอยเขี้ยว 1 หรือ 2จุด (งูไม่มีพิษ แผลจะเป็นรอยถลอก) ให้ผู้ที่ถูกงูกัดนอนลง จัดให้มือหรือเท้าที่ถูกกัดอยู่ระดับเดียวหรือต่ำกว่าระดับหัวใจ ปลอบใจ ไม่ให้ตื่นตกใจ และพยายามให้ผู้ที่ถูกงูกัดอยู่นิ่งๆ หรือให้เคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด เพราะการตื่นเต้น ตกใจ หัวใจจะเต้นเร็ว หรือเคลื่อนไหวมาก จะทำให้พิษงูเข้าไปในกระแสเลือดมากขึ้น ค่อยๆ ล้างบาดแผลที่ถูกงูกัด ด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาดเท่าที่พอจะทำได้
ห้ามเลือด โดยใช้ผ้าสะอาดกดบาดแผลโดยตรง หรือใช้การพันผ้า ดามขาข้างที่ถูกงูกัดกับขาอีกข้างโดยใช้ผ้านุ่มคั่นระหว่างขา และรัดด้วยผ้าที่ข้อเท้าและเข่า และประคองส่วนที่บาดเจ็บ นำส่งโรงพยาบาล 
 

     หมายเหตุ การใช้เชือกรัดบริเวณเหนือจุดที่ถูกกัด ปัจจุบันไม่ขอแนะนำ เพราะการรัดแน่นจนเกินไปหรือถ้าถูกรัดไว้เป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดการขาดเลือดของอวัยวะที่อยู่ใต้ส่วนที่รัดได้ 

การปฐมพยาบาลผู้ที่มีอาการชัก

การปฐมพยาบาลผู้ที่มีอาการชัก         

การปฐมพยาบาลผู้ที่เป็นตะคริว

การปฐมพยาบาลผู้ที่เป็นตะคริว

สาเหตุใหญ่ๆ ที่เป็นกันก็คือ
  1. เกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยง เช่น ใช้ถุงเท้าที่รัดแน่นเกินไป หรือ อยู่ในที่อากาศเย็นจัด
  2. การขาดเกลือแร่บางอย่าง เช่น เกลือโซเดียม แคลเซียม ซึ่งเสียไปกับการหลั่งเหงื่อ
  3. จากการถูกกระทบกระแทก อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ เช่น การทำลูกหนู
  4. การหดตัวอย่างรุนแรงของกล้ามเนื้อ เนื่องจากการออกกำลังกายมากเกินไป หรือการนั่ง นอน ยืน ในท่าที่ไม่ถนัด ตะคริวถ้าเป็นพร้อมกันหลาย ๆ แห่ง มักเกิดจากการขาดน้ำ อาหาร เกลือแร่ในกล้ามเนื้อ ซึ่งตะคริวที่เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อสามารถคลายออกได้ โดยการใช้กำลังยืดกล้ามเนื้อ ตามทิศทางการทำงานของกล้ามเนื้อ
          บริเวณกล้ามเนื้อที่พบว่าเป็นตะคริวได้บ่อยคือกล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อต้นขาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และกล้ามเนื้อหลัง แต่ที่คนส่วนใหญ่เป็นกันคือกล้ามเนื้อน่อง

การปฐมพยาบาล           ปกติแล้วกล้ามเนื้อจะคลายตัวเองลง แต่เราก็มีวิธีช่วยให้คลายตัวได้เร็วขึ้น โดย
  1. ค่อยๆเหยียดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวให้ยืดออก ในรายที่เป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อน่อง ซึ่งทำหน้าที่เหยียดปลายเท้า ขณะเป็นตะคริวจะหดเกร็ง และทำให้ปลายเท้าเหยียด การใช้กำลังดันปลายเท้าเข้าหาเข่าโดยค่อยๆ เพิ่มกำลังดันจะช่วยเหยียดกล้ามเนื้อน่องได้
  2. ใช้ความร้อนประคบหรือถูนวดเบา ๆ ด้วยยาหม่องหรือน้ำมันสโต๊ก ทำให้เลือดเลี้ยงมากขึ้น กล้ามเนื้อคลายและมีกำลังหดได้อีก
  3. ให้ความอบอุ่นแก่ผู้ที่เป็นตะคริว และให้น้ำผสมเกลือแกงดื่มเป็นระยะ ๆ จะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายการเกร็งได้ดีขึ้น

การปฐมพยาบาลผู้ที่มีกระดูกหัก

การปฐมพยาบาลผู้ที่มีกระดูกหัก


กระดูกของคนเราอาจเกิดแตกหักได้ตลอดเวลา ถ้าไม่ระมัดระวังหรือไม่ป้องกันอันตราย เช่น การถูกกระแทกจากอุบัติเหตุต่างๆ การสะดุด การบิด หรือการกระชาก ลักษณะของกระดูกหักแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • หักออกจากกันเป็น 2 ส่วน อาจหักธรรมดาไม่มีบาดแผลหรือหักมีบาดแผล กระดูกแตกละเอียด จะมีอันตรายเมื่อมีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ หลอดเลือด เส้นประสาท หรือกระดูกที่หักแทงทะลุอวัยวะภายในที่สำคัญ

  • กระดูกหักไม่ขาดออกจากกัน มีลักษณะกระดูกร้าว กระดูกเดาะ หรือกระดูกบุบ ลักษณะอาการจะแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่กระดูกหัก อาการทั่ว ๆ ไป อาจมีอาการช็อก มีอาการบวม และร้อน ลักษณะกระดูกผิดรูปร่างไปจากเดิม เคลื่อนไหวไม่ได้ ถ้าจับดูจะมีเสียงกรอบแกรบ อาจมีบาดแผลที่ผิวหนังตรงตำแหน่งที่หัก หรือพบปลายกระดูกโผล่ออกมาให้เห็นชัดเจน


  • การปฐมพยาบาล

    1. ให้ผู้บาดเจ็บอยู่นิ่งๆ ประคองและจับส่วนที่บาดเจ็บอย่างมั่นคง อย่าพยายามเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บโดยไม่จำเป็น หรือจนกว่าส่วนของกระดูกที่หักจะได้รับการเข้าเฝือกแล้ว
    2. ใส่เฝือกชั่วคราว โดยใช้วัสดุที่หาง่าย เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษแข็ง ไม้ไผ่ เป็นต้น ( ถ้าเป็นกระดูกชิ้นใหญ่ เช่น กระดูกโคนขา อาจใช้ขาข้างดีเป็นตัวยึดก็ได้) และก่อนเข้าเฝือก ควรใช้ผ้าสะอาดพันส่วนที่หักให้หนาพอสมควร หรือทำการห้ามเลือดก่อน ถ้ามีเลือดออกมาก
    3. พันผ้ายืดไม่ให้เคลื่อนไหว ระวังอย่าพันให้แน่นจนเกินควร เพราะจะทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายไม่ได้ ซึ่งเป็นอันตรายมาก ถ้าเป็นปลายแขน หรือมือ ใช้ผ้าคล้องคอ  
    4. ถ้ากระดูกหักโผล่ออกมานอกเนื้อ อย่าดันกลับเข้าที่เดิมเด็ดขาด เพราะจะทำให้เชื้อโรคและสิ่งสกปรกจากภายนอกเข้าไปในแผลส่วนลึกได้ ให้หาผ้าสะอาดคลุม หรือปิดบาดแผลไว้
    5. ให้ยาแก้ปวดหากปวดแผลมาก เช่น พาราเซตะมอล และห่มผ้าให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
    6. รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ซึ่งการเคลื่อนย้ายผู้ที่บาดเจ็บต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยให้ส่วนที่หักเคลื่อนไหวน้อยที่สุด

    การปฐมพยาบาลผู้ที่มีข้อเคลื่อน

    การปฐมพยาบาลผู้ที่มีข้อเคลื่อน

    ข้อเคลื่อน หมายถึง ภาวะที่ปลายกระดูก 2 ชิ้น ซึ่งประกอบกันเป็นข้อ เคลื่อนหลุดออกจากตำแหน่งปกติ เป็นผลให้เยื่อหุ้มข้อ เอ็นหุ้มข้อ เส้นเลือด เส้นประสาทของข้อนั้นๆ เกิดการฉีกขาด มักเกิดจากมีแรงกระแทกจากภายนอกมากระทำที่ข้อนั้น หรือถูกกระชากที่ข้อนั้นอย่างรุนแรงฯลฯ
              ข้อเคลื่อน มีอาการบอกให้รู้ดังนี้ เคลื่อนไหวข้อไม่ได้ ข้อส่วนนั้นจะบวม ปวด รูปร่างของข้อผิดไปจากเดิม เช่น ถ้าเป็นที่ข้อสะโพก ขาข้างนั้นจะสั้นลง ถ้าข้อไหล่หลุด บริเวณหัวไหล่จะแฟบลง ถ้ามีอาการชา แสดงว่าเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณนั้นถูกทำลาย



    การปฐมพยาบาล
              ให้ข้อส่วนนั้นอยู่นิ่งที่สุด โดยการใช้ผ้าพัน ห้ามดึงข้อให้เข้าที่ ประคบด้วยความเย็น เพื่อลดอาการปวดและบวมลง รีบนำส่งโรงพยาบาล




     

    การปฐมพยาบาลผู้ที่มีข้อเคล็ด

    การปฐมพยาบาลผู้ที่มีข้อเคล็ด

    ข้อเคล็ด หมายถึง การที่ข้อต่าง ๆ ได้มีการเคลื่อนไหวมากเกินไป ทำให้เนื้อเยื่อหุ้มข้อ หรือเอ็นรอบๆข้อ รวมทั้งกล้ามเนื้อบริเวณข้อมีการฉีกขาดหรือช้ำ สาเหตุข้อเคล็ดนั้น เกิดจากข้อต่อส่วนใหญ่เกิดกระทบกระเทือน ทำให้เยื่อหุ้มหรือเอ็นรอบ ๆ ข้อต่อเคล็ดหรือแพลง
    ข้อเคล็ด มีอาการบอกให้รู้ดังนี้
              บริเวณข้อส่วนนั้นจะบวม ช้ำ มีอาการเจ็บปวด ถ้าเคลื่อนไหวหรือใช้มือกดจะทำให้เจ็บมากขึ้น ในรายที่มีอาการรุนแรงจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เลย เพราะจะเจ็บปวดมาก มีอาการชาทั่วบริเวณข้อเคล็ด แสดงว่าเส้นประสาทส่วนนั้นเกิดฉีกขาดด้วย
    การปฐมพยาบาล           ประคบด้วยน้ำเย็นหรือน้ำแข็งทันที และประคบหลายๆครั้งติดต่อกัน แต่ละครั้งนาน5-10 นาที และพัก 2-3 นาที เพื่อลดอาการปวด บวม และระหว่างพักให้สังเกตอาการบวมด้วย ถ้าอาการบวมไม่เพิ่มขึ้น ก็หยุดประคบเย็นได้ ถ้ายังมีอาการบวมอยู่ให้ประคบต่อจนครบ 24 ชั่วโมงแรก ให้บริเวณข้อนั้นอยู่นิ่ง โดยพันผ้ายืดและยกสูงไว้
              ภายหลัง 24 ชั่วโมงไปแล้ว ถ้ายังมีอาการบวมให้ประคบด้วยน้ำร้อน หรือนวดด้วยยาหม่อง น้ำมันระกำ GPO ปาล์มฯลฯ ถ้ามีอาการปวดหรือบวมมาก ให้รีบไปพบแพทย์